Sunday, November 04, 2007

พระมหากษัตริย์ที่ดีและยิ่งใหญ่

หมายเหตุ : คำถาม-คำตอบ ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี หลังการกล่าวแนะนำหนังสือเรื่อง The King of Thailand in World Focus กับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจ

+++++

มาร์วัน มาคาร แห่งอินเตอร์เพรส เซอร์วิส
ข้อจำกัดประการหนึ่งสำหรับนักข่าวต่างประเทศ เมื่อรายงานเรื่องสถาบันกษัตริย์ก็คือ กฎหมายว่าด้วยความผิดอาญาฐานหมิ่นพระบรมราชานุภาพ คุณได้กล่าวถึงพระราชดำรัสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ.2548 พระองค์รับสั่งว่าพระเจ้าแผ่นดินก็อาจพลาดได้ แต่ผู้สื่อข่าวไทยไม่ได้จับมาเป็นประเด็น และยังคงทำงานข่าวอย่างที่เคยทำมาก่อนหน้านั้น คุณคิดว่าจะมีโอกาสไหมที่นักการเมืองชั้นนำของไทยจะนำทาง โดยกล่าวว่าเรามีความเคารพในสถาบัน แต่ไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องมีกฎหมายแบบนี้ ซึ่งควบคุมการรายงานข่าวเกี่ยวกับสถาบันตามที่เป็นอยู่ และแผนที่รายงานเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นายอานันท์ ปันยารชุน
นี่เป็นคำถามค่อนข้างยาก เหมือนกับว่าคุณจะเอาแต่ประโยชน์โดยไม่ยอมเสียอะไรเลย ด้านหนึ่งคุณจะต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชน ผมใคร่จะเรียนว่า ผมไม่ทราบว่ากฎหมายมาตรานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ใน 2 วาระที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งผมมีโอกาสได้เฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งคราว พระองค์ท่านไม่เคยรับสั่งแม้แต่ครั้งเดียว เรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งที่หลายเรื่องก็ไม่เป็นธรรม เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้พระองค์ท่านไม่เอามาเป็นเรื่องรบกวนพระทัย และไม่ทรงเห็นว่าสำคัญพอที่จะหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นกับนายกรัฐมนตรีของพระองค์

อีกด้านหนึ่งคุณก็ต้องเข้าใจว่าบางเรื่อง เฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของตะวันตก ความขลังของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งกำลังลื่นไหลไปตามกระแสหลักด้วยคิดว่า กษัตริย์ควรทำตนให้เหมือนสามัญชน นั่นก็อาจเป็นเรื่องดี คนไทยเราไม่ขัดข้องในกระแสดังกล่าว

แต่ผมคิดว่าพวกคุณก็ต้องเคารพแนวคิดและขนบประเพณีของผู้คนในประเทศนี้ พระเจ้าอยู่หัวไม่เคยรับสั่งเรื่องนี้กับผมเลย แต่ในความเห็นส่วนตัวผมเองก็ไม่ค่อยชอบกฎหมายนี้ เผอิญผมได้รับการศึกษาในต่างประเทศ และใช้ชีวิตในต่างประเทศ แต่พวกคุณต้องเข้าใจว่าในประเทศนี้ พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในสถานะที่จะล่วงละเมิดมิได้ โดยเจตนารมณ์ของประชาชน ผมเชื่อแน่ว่าพระองค์ท่านไม่เคยทรงวิตกว่ากฎหมายมาตรานี้จะมีอยู่หรือไม่ แต่คนไทยจะไม่ยอมแน่ พวกคุณอาจจะต้องคอยนานถึง 20 หรือ 50 ปี แต่คนไทยไม่ว่าจะผิดหรือถูกจะไม่ยอมทน “คำวิพากษ์วิจารณ์” พระเจ้าอยู่หัวของเราโดยเด็ดขาด นี่คือความรู้สึกของคนไทย

ถ้าหากคุณทำประชามติ (เรื่องนี้) ในวันพรุ่งนี้ คุณก็จะได้เห็นว่ามีการออกเสียงเห็นชอบเพิ่มมากขึ้นกว่าครั้งที่แล้ว ผมคิดว่านี่เป็นลักษณะการคิดของคนไทย เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกมากว่า 800 ปี ซึ่งคงจะล้มล้างกันไม่ได้ง่ายๆ บางครั้งผมอดที่จะอัศจรรย์ใจไม่ได้ว่า คนไทยเรานี่ดูจะเป็นคาทอลิกยิ่งเสียกว่าองค์พระสันตะปาปา (เสียงหัวเราะ) ผมเชื่อเสมอว่า คนไทยเป็นพวกสนับสนุนระบอบราชาธิปไตยยิ่งกว่าพระเจ้าอยู่หัวเสียอีก (เสียงหัวเราะ)

ไม่เพียงแต่ประชาชนคนไทยเท่านั้น รัฐบาลไทยเองก็วิตกกังวลไปด้วยทุกครั้งที่มีหนังสือ หรือสิ่งตีพิมพ์ออกมาใหม่ วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดคือรัฐบาล ซึ่งจะจัดการห้ามจำหน่ายหนังสือเล่มนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้สกัดนั่น สกัดนี่ ทำไมหรือ เหตุผลก็คือรัฐบาลเกรงว่าถ้าไม่ทำอะไรเลยจะถูกประชาชนตำหนิ ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณจะตำหนิรัฐบาลก็ไม่ถูกนัก เพราะที่ทำไปก็เพียงตอบสนองความรู้สึกของประชาชน

+++++

โจนาธาน เฮด จาก บีบีซี
ผมสังเกตว่าเมื่อคุณพูดถึงความสำเร็จต่างๆ ของพระเจ้าอยู่หัว ความสำเร็จประการหนึ่งก็คือ การแทรกแซงของพระองค์มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความสงบ และความกลมเกลียวกันของสังคม แต่คุณก็เคยพูดอย่างไม่เป็นทางการว่า คุณเองไม่ค่อยมั่นใจในความกลมเกลียวนัก ผมทราบมาว่ามีคนจำนวนไม่น้อยตำหนิสุภาพบุรุษท่านหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กำลังปลาบปลื้มกับการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลระดับยอดของบริติชพรีเมียร์ลีก ว่าเป็นต้นเหตุของความร้าวฉานส่วนใหญ่ในสังคม ผมชักจะสงสัยว่า สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จนเกินกว่าที่พระองค์จะมีส่วนช่วยธำรงความสามัคคีของสังคมไว้ได้ ปัจจุบันสังคมได้ก้าวไปไกลมาก และปัญหาก็ซับซ้อนเกินจะเยียวยาด้วยการแทรกแซงของพระองค์แล้ว

นายอานันท์
คุณโจนาธาน แม้ว่าคุณกับผมจะศึกษามาในสถาบันเดียวกันก็ตาม (เสียงหัวเราะ) ผมต้องขออนุญาตเห็นต่าง ผมไม่เคยใช้คำว่า “แทรกแซง” เลย สำหรับผม พระองค์ท่านทรงยึดตัวบทกฎหมายตามตัวอักษรและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด เรื่องซึ่งชาวต่างประเทศมองว่าพระองค์ท่าน “แทรกแซง” ผมขอแยกออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นการแทรกแซงที่ริเริ่มด้วยบุคคลผู้นั้นเอง ในกรณีของพระเจ้าอยู่หัว การแทรกแซงเป็นการเข้าไปโดยมีผู้ร้องขอ จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันเล็กน้อย อีกประการหนึ่ง ตลอดระยะเวลาที่ผมทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ครั้งนั้น ผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงาน ไม่เคยมีรับสั่งใดๆ แม้แต่ครั้งเดียวที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของประเทศ หากจะมีครั้งใดที่ทรงรู้สึกว่าอาจจะก้าวล้ำขอบเขต พระองค์ท่านก็ทรงยับยั้งไว้ในกรอบวินัยที่ทรงตั้งไว้ จะรับสั่งกับผมว่า “นี่เป็นเรื่องที่นายกฯ มาขอความเห็นนะ”

ฉะนั้น เมื่อผมเขียนสุนทรพจน์ครั้งนี้ ผมได้ชี้ให้เห็นชัดว่าไม่ใช่ “ปรึกษานายกรัฐมนตรี” แต่ “ขอเข้าเฝ้าฯ ปรึกษา” ถ้าไม่ใช่เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้น พระองค์จะไม่พระราชทานคำปรึกษาใดๆ เลย หากจะทรงมีความเห็นก็จะให้เฉพาะเรื่องที่ทูลถามเท่านั้น มีบางคนที่ไม่ได้มาจากประเทศที่มีกษัตริย์ หรือมาจากประเทศที่กษัตริย์ลดบทบาทลงตามกระแสความคิดของส่วนนั้นๆ ของโลก แต่สำหรับประเทศไทย สถาบันกษัตริย์เป็นแบบกลางๆ ยังคงรักษาพระราชพิธีและพระราชประเพณี ยังคงมีพิธีกรรมและพิธีการ แต่กระนั้น กษัตริย์และพระราชวงศ์จะใกล้ชิดประชาชนกว่ากษัตริย์ในประเทศอื่นๆ แม้ว่าในบางประเทศกษัตริย์และราชวงศ์จะปฏิบัติองค์ดั่งสามัญชน เช่นขี่จักรยาน หรือไปซื้อของตามห้างร้านเหมือนคนทั่วไปก็ตาม

ในหลวงของเรารู้จักชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรของพระองค์เป็นอย่างดี ทรงเข้าใจความคิดจิตใจของคนธรรมดาสามัญ จนมีคำติติงว่าทรงให้เวลากับชาวไร่ ชาวนา คนยาก คนจน มากกว่าให้เวลากับชาวเมือง ในหลวงทรงเชื่อว่าประเทศไทยไม่ใช่เพียงผู้คนในกรุงเทพฯ ประเทศไทยคือดินแดนในชนบท
ถ้าคุณได้เรียนรู้พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจต่างๆ ตลอดระยะ 60 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าพระองค์ทรงมุ่งเป้าไปที่ชนบทและชาวบ้าน ผู้ยากไร้ขัดสน พระองค์เป็นกษัตริย์พระองค์เดียวที่อาจจรรโลงเกียรติแห่งสถาบันนี้ไว้ได้ แต่ก็ยังแนบสนิทกับราษฎรยิ่งกว่ากษัตริย์พระองค์ใดในโลก

+++++

จอห์น ฮาร์เกอร์ – สมาชิก FCCT มาหลายทศวรรษ (นักข่าวอิสระ)
ผมอยากถามความเห็นของคุณในการรายงานข่าวของผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
เรื่องการปฏิวัติเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว

นายอานันท์ ความจริงผมคิดไม่ถึงเลยว่า จะมีโอกาสได้เห็นว่า นักสังเกตการณ์ชาวตะวันตกเริ่มจะคิดเรื่องประชาธิปไตยทำนองเดียวกับคุณทักษิณ (เสียงหัวเราะและปรบมือ) ผมเป็นนักศึกษาในประเทศอังกฤษ 7 ปี อยู่ในประเทศอเมริกา 12 ปี และเดินทางไปทั่วโลกในระยะเวลา 50 ปี ผมมักถูกกล่าวว่าเป็นคนไทยนิสัยฝรั่ง อย่างไรก็ตาม ผมไม่เคยคิดว่าคนตะวันตกจะคิดแบบง่ายๆ ขนาดที่คิดว่าสามารถจะยัดเยียดประชาธิปไตยให้กับอิรักได้ ต้องการเปลี่ยนทั้งโลกให้เป็นประชาธิปไตยด้วยการปลูกฝังกระบวนการ ผมคิดไม่ถึงเลยว่า คนตะวันตกบางคนจะถือเอาว่าการเลือกตั้งคือประชาธิปไตย

ในที่นี้บางคนอาจได้อ่านบทสัมภาษณ์ของผมที่ลงพิมพ์ในบางกอกโพสต์ เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว เราสนใจเพียงรูปแบบ มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ เท่านั้นหรือ เราไม่รู้ หรือลืมไปแล้วว่าประชาธิปไตยนั้น เป็นเรื่องของสังคมเปิด เรื่องหลักนิติธรรม เรื่องความโปร่งใส เรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชน เรื่องภาระความรับผิดชอบ เรื่องการมีส่วนร่วมเรื่องความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ เรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เรื่องการถ่วงดุลอำนาจ ผมรู้สึกงงงวยอย่างมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีมานี่ เราพากันหลงทางจนขนาดไม่รู้ว่าเรามาจากไหน เราเป็นใคร และเรากำลังจะไปไหนแล้วหรือ เราลืมค่านิยมต่างๆ ของเราแล้วหรืออย่างไร เราเบาปัญญาขนาดนั้นเทียวหรือ

ผมไม่กังวลหรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต ที่ผมกังวลอย่างยิ่งก็คือ โลกของเราจะเป็นอย่างไร นี่เป็นคำถามที่สาหัสสากรรจ์ที่คุณต้องถามตัวเอง เรากำลังจะก้าวไปในทิศทางใด เราลืมหลักการพื้นฐานไปเสียแล้วหรือ เราลืมหลักศีลธรรมไปเสียแล้วหรือ

+++++

ดอมินิก โฟลเดอร์ แห่งเอเชีย อิงก์
ในคำนำของเดนิส (เกรย์) ในหนังสือเล่มนี้ มีข้อสังเกตว่าพระเจ้าอยู่หัวได้การโฆษณาประชาสัมพันธ์มากมายชนิดที่หลายต่อหลายคนได้แต่ฝัน และหากคุณพิจาณาจากช่วงเวลา 60 ปีมานี่ คุณลงความเห็นได้ไหมว่าสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย ในกาลข้างหน้า จะอยู่ในสภาพมั่นคงดีต่อไปเช่นที่พระองค์ท่านได้ดำเนินการไว้

นายอานันท์
ผมพูดอยู่เสมอว่า สถานภาพของพระเจ้าอยู่หัวของเราที่สูงขึ้นถึงระดับนี้หลังจากครองราชย์มา 60 ปี เป็นผลมาจากบารมีที่พระองค์ทรงสร้างมา มิได้เป็นเรื่องการสืบทอด เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ในวัยเพียง 17-18 พระชันษา ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าพระองค์จะเป็นประมุขของชาติแบบใด แต่ผมคิดว่าด้วยพระปรีชาสามารถ พระวิริยอุตสาหะ และมุ่งมั่น พระองค์ทรงได้จำเริญขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ดี

เมื่อกล่าวถึงพระเจ้าอยู่หัวของเรา พระองค์ท่านไม่เพียงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดีด้วย ผมขอชี้ว่ามีความแตกต่าง เพราะผู้ใดผู้หนึ่งอาจเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ ทั้งที่มีข้อบกพร่องและข้อเสียหลายประการ แต่ถ้าหากเราพูดว่าผู้นั้นเป็นคนดีสำหรับผมมีความหมายมากกว่า ฉะนั้น เมื่อเรากล่าวถึงพระองค์ท่านว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่ดี จึงมีความหมายลึกซึ้งกว่าที่กล่าวว่าพระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่

การจะเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดี เป็นคนดี เป็นเรื่องที่จะต้องได้มาด้วยอุตสาหะของตนเอง ไม่ใช่สืบทอดมาแต่อย่างไรก็ตาม สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นซึมลึกอยู่ในประเทศไทยและความเป็นไทย ผมมั่นใจว่าสถาบันนี้จะยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์และดำเนินต่อไป

มาถึงประเด็นที่ว่าผู้ใดจะเข้ามาแทนที่ และผู้นั้นจะพยายามทำได้ดีเท่าองค์ปัจจุบันไหม ผมว่าไม่ค่อยยุติธรรมนักที่จะคาดหวังว่าผู้สืบทอดตำแหน่งนี้ จะสามารถเดินตามรอยเท้าของบุคคลที่ยิ่งใหญ่ได้

ถ้าหากคุณดูผู้นำระดับโลกที่มีบุตรชายและหญิงเดินตามรอยเท้าพ่อ อย่างเช่น เชิตชิลล์ ผมว่ามันไม่ยุติธรรมที่จะคาดหวังว่าบุตรธิดาเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จอย่างพ่อ กระนั้นก็ตาม ผู้ที่สืบทอดราชบัลลังก์คงจะพยายามจนสุดความสามารถ ที่จะทำให้ได้เทียมเท่าในหลวงพระองค์นี้ จะสำเร็จหรือไม่เพียงใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คำถามคือว่าผู้นั้นจะพยายามทำหรือไม่ และจะสำเร็จแค่ไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดเดาได้ และถึงแม้ว่าผู้นั้นจะพยายามแล้วแต่ไม่สำเร็จ เขาผู้นั้นก็ยังคงเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ เป็นประมุขของสถาบันซึ่งจะคงอยู่ถาวรในประเทศไทย ประชาชนจะยังคงรับได้ว่าเรามีพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงสง่าราศี แม้จะมีข้อจำกัดบางประการ เราก็ยังคงเคารพนับถือว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินของเรา

นี่แหละที่ผมเห็นว่า เป็นการขัดแย้งในตัวเองของผู้สื่อข่าวและผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศ ทางหนึ่งพวกคุณตำหนิพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ว่า “แทรกแซง” อีกทางหนึ่งคุณก็คล้อยตามคนไทย และอาจจะไม่รู้ตัวว่ายังต้องการพึ่งพระราชอำนาจของพระองค์อยู่ พวกคุณไม่อาจจะเอาแต่ประโยชน์โดยไม่ยอมเสียอะไรเลย ถ้าหากคุณไม่ต้องการให้พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ “แทรกแซง” การที่พระเจ้าอยู่หัวองค์ต่อไปไม่ทรง “แทรกแซง” จะไม่ถูกต้องได้อย่างไร ผมไม่แน่ใจว่าคำชี้แจงของผมชัดเจนหรือไม่ ที่ผมจะอธิบายก็คือ พระบารมีของพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่สร้างสมมาด้วยพระองค์เอง เป็นสิ่งที่สืบทอดกันไม่ได้ ผู้ที่สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์อาจจะพยายามสร้าง แต่จะสำเร็จหรือไม่ก็ได้ ถ้าหากไม่สำเร็จก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะไม่พอใจ ผู้นั้นยังคงอยู่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นสัญลักษณ์ของสถาบัน

แต่พวกคุณไม่อาจจะกล่าวว่า เราคนไทยหวังพึ่งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้อย่างมาก จนจะเกิดสุญญากาศหากขาดพระองค์ท่านไป คุณตัดสินใจเองก็แล้วกันว่า ต้องการพระเจ้าอยู่หัวที่มีบทบาทหรือนิ่งเฉย คุณเองก็ตกอยู่ในกับดักเช่นเดียวกันกับคนไทยทั้งหลาย คุณเองก็เริ่มที่จะจู้จี้ช่างเลือก ผมเคารพในสถาบันกษัตริย์ แต่ความเคารพหลักของผมคืออะไร ความเคารพหลักของผมคือสถาบัน และถ้าเรามีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงบารมีเช่นนี้ถือว่าเป็นรางวัลพิเศษ

+++++

เดนิส เกรย์ แห่งสำนักข่าวเอพี
คุณคงทราบว่าคนไทยเกือบทุกคนและฝรั่งที่อยู่ในประเทศนี้ มักแสดงความวิตกกังวลว่า หากประเทศไทยไม่มีในหลวงก็จะมีแต่ความวุ่นวาย มีปัญหา บางคนก็ว่าอาจถึงขั้นจลาจล

นายอานันท์
ก็เป็นฝรั่งพวกเดียวกันนี่แหละที่พร่ำบ่นว่าพระเจ้าอยู่หัวทรง “แทรกแซง” ในเรื่องนั้น เรื่องนี้ แต่เมื่อไม่มีพระองค์ท่านแล้วก็จะพร่ำหา เลือกเอาก็แล้วกันว่าต้องการอะไรกันแน่ แต่สำหรับตัวผมนั้นบอกได้เลยว่า อะไรก็ตามที่พวกคุณกล่าวหา ล้วนไม่เป็นความจริง พระองค์ท่านไม่เคยแทรกแซงในเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น พระองค์ท่านไม่มีวาระซ่อนเร้น

+++++

เดนิส เกรย์ แห่งสำนักข่าวเอพี
ไม่เว้นแต่ละวันที่ผมและเพื่อนๆ นักข่าว บางทีคุณ หรือคนไทยบางคนจะพูดกันว่า แย่มากเลยนะถ้าประเทศไทยไม่มีในหลวง เพราะประเทศจะวุ่นวายโกลาหล จริงไหมครับ

นายอานันท์
คุณต้องเข้าใจนะ ผมก็เป็นคนส่วนน้อย ผมเบื่อพวกนักข่าวต่างประเทศเสียจริงๆ (เสียงหัวเราะ เสียงปรบมือ) แต่ผมก็เบื่อพวกคนไทยมากกว่า ผมพูดที่โต๊ะอาหารว่า ครั้งหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า จะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม ตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ผมได้พยายามที่จะชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “ประโยชน์” ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์ทางวัตถุ และ “ความสุข” ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพอใจหรือไม่

ถ้าคุณวัดจีดีพีของประเทศ ผลที่ได้จะไม่สะท้อนพัฒนาการของประชาชนอย่างแท้จริงเลย คุณต้องดูดัชนีวัดความสุขของประชาชน แบบที่ทำกันที่ภูฏาน ผมเคยเชื่อเสมอมาจนกระทั่ง 2-3 ปีที่แล้ว ถ้าคุณวัดประเทศไทยตามดัชนีวัดความสุขมวลชนของประเทศ คุณก็จะพบว่าแทนที่จะอยู่ในลำดับที่ 65 ตามจีดีพี เราก็จะขึ้นไปอยู่ประมาณลำดับที่ 25 หรืออาจจะถึง 20 ก็ได้

แต่ผมต้องยอมรับว่าผมเลิกความคิดนี้แล้ว เพราะผมไม่สามารถเข้าใจคนไทยได้ (เสียงหัวเราะ) จะด้วยเหตุใดก็ตาม คนไทยไม่เพียงแต่จะมองสิ่งต่างๆ ไปในแง่ร้ายเท่านั้น แต่ยังชอบลงแส้ทรมานตนอีกด้วย เรามีการลงประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ ทันทีที่ผลออกมา คนพวกนี้ก็เป็นกังวลว่าผลออกมาไม่ดี เพราะเสียงส่วนใหญ่ที่เห็นชอบนั้นมีเพียง 57% เสียงที่ไม่เห็นชอบประมาณ 41% คะแนนเสียงต่างกัน 15% และถ้าดูจำนวนเสียงทั้งหมดจะเห็นว่าเป็นความแตกต่างระหว่างเกือบ 15 ล้านเสียง กับ 11 ล้านเสียง ซึ่งก็คือส่วนต่าง 15% ของผู้ที่ออกไปลงเสียง 4 ล้านเสียง ถ้าคุณอ่านหนังสือพิมพ์ไทย อ่านบทความ ฟังรายการวิพากษ์วิจารณ์ข่าว ล้วนแสดงความคิดเห็นว่าเสียงต่างกันน้อยมาก ซึ่งผมไม่เข้าใจเลยจริงๆ อีกประการหนึ่ง ทันทีที่ผลการลงประชามติออกมาส่วนใหญ่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีการพูดถึงรัฐประหารครั้งต่อไป (เสียงหัวเราะ) ผมถามว่าพลาดตรงไหน มันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะอธิบายได้ เป็นเรื่องไร้ตรรกะและเหตุผลโดยสิ้นเชิง ผมให้คำตอบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ผมโทษคุณทักษิณ (เสียงหัวเราะและเสียงปรบมือ)

+++++

จอห์น แอลลัน เรย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
คุณอานันท์ได้ชี้แจงและพูดถึงสถาบันกษัตริย์ และพระราชอำนาจของกษัตริย์ ผมสังเกตว่าตลอดเวลาคุณอานันท์ใช้สรรพนามเพศชายในภาษาอังกฤษ เป็นไปได้ไหมในอนาคตที่ยาวนานจะมีการใช้สรรพนามเพศหญิง

นายอานันท์
ผมไม่เห็นมีอุปสรรคใดๆ ในอนาคต ผมไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุไว้ว่าอย่างไร ผมชื่อว่าเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว ผมไม่คิดว่าคนไทยจะเห็นเป็นเรื่องขบคิดกันมาก ไม่เหมือนชาวญี่ปุ่น ซึ่งในเรื่องนี้ถึงกับมีสงครามกลางเมือง ดูกรณีที่เจ้าชายชาวญี่ปุ่นองค์หนึ่ง โทษนิสัยโปรดปรานการดื่มน้ำเมาของพระองค์ว่า เกิดจากประเด็นที่ว่าสตรีอาจจะขึ้นครองบัลลังก์ได้ เราไม่เคร่งครัดถึงปานนั้น ประการหนึ่งคนไทยไม่เอาจริงเอาจังกับเรื่องอย่างนั้น ใครที่มาเมืองไทยและเอาจริงเอาจังกับคนไทยแล้ว ค่อนข้างจะอันตรายกับตนเองสักหน่อยนะ (เสียงหัวเราะและปรบมือ)

+++++

บทส่งท้าย

เรื่องหนึ่งซึ่งผมไม่ค่อยสบายใจนักคือ มีการกล่าวถึงพระเจ้าอยู่หัวว่าไม่เคยเห็นแย้มพระสรวล ผมคิดว่าเป็นข้อจำกัดอันเนื่องมาจากธรรมเนียมประเพณีและความเคารพในพระองค์ท่าน มีบุคคลไม่กี่คน บทความหรือบทสัมภาษณ์ไม่กี่ชิ้น ที่สามารถถ่ายทอดให้คนทั่วไปได้เห็นด้านที่ผ่อนคลายของพระองค์ ผมจะเล่าเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ให้ฟังสัก 2-3 เรื่อง ปกติแล้ว ผมจะไม่เปิดเผยเรื่องที่พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งกับผมในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่ผมว่าสมควรในกรณีนี้ เพื่อที่เราจะได้รู้จักพระองค์ท่านดีขึ้นในฐานะมนุษย์ธรรมดา

เรื่องแรกนั้นเกิดขึ้นเมื่อผมทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีบางเรื่องซึ่งผมคิดว่าพระเจ้าอยู่หัวจะสนพระทัย เมื่อฉบับร่างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ผมได้ขอเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายรายงาน และยก 3-4 ประเด็นที่คิดว่าจะสนพระทัย แต่พระองค์ท่านไม่ได้สนพระทัยนัก แน่นอนพระองค์สนพระทัยประเด็นที่ว่า จะตราพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ นอกเหนือจากนั้นก็ไม่ค่อยสนพระทัยเรื่องที่ผมรายงานสักเท่าใด ตอนสุดท้ายพระองค์รับสั่งว่า “คุณอานันท์ มันแปลกดีนะที่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดไว้ว่าพระมหากษัตริย์จะต้องเป็นพุทธมามกะ ต้องเป็นอัครศาสนูปถัมภก ต้องเป็นนั่น ต้องเป็นนี่ แต่ไม่มีตรงไหนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นคนไทย” (เสียงหัวเราะและปรบมือ) ผมขอท้าพวกคุณว่าในบรรดาคนไทย 62 ล้านคน มีใครไหมที่ปราดเปรื่องคิดถึงรายละเอียดด้านเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้

อีกเรื่องหนึ่งเมื่อผมเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระที่ 2 โดยอุบัติเหตุอีกนั่นแหละ (เสียงหัวเราะ) ในการเข้าเฝ้าฯ ครั้งแรก ผมถวายคำนับแล้วลงกราบพระบาท พอผมยืนขึ้น ทรงรับสั่งว่า “Shane, come back” (เสียงหัวเราะ) พวกคุณที่อายุไม่มากนักอาจจะไม่รู้เรื่องเชนว่าเป็นมาอย่างไร เชนเป็นภาพยนตร์ที่พวกเราได้ชมกันเมื่อ 40 หรือ 50 ปีก่อน เชนเป็นคนเที่ยงธรรม เป็นนายอำเภอของเมืองเมืองหนึ่งที่มีปัญหาหนักมาก เขาทำให้เมืองสงบเรียบร้อย กวาดล้างมือปืนวายร้าย แล้วก็วางอาวุธปลดเกษียณตัวเองไปอยู่ในชนบท แต่ความวุ่นวายก็เกิดขึ้นในเมืองนั้นอีก เราเลยพูดกันติดปากว่า “Shane, come back” (เสียงหัวเราะและปรบมือ)

+++++

บทสัมภาษณ์ ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน “พระมหากษัตริย์ที่ดีและยิ่งใหญ่” จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันจันทร์ที่ 24 กันยายน 2550

Wednesday, July 19, 2006

Get well soon, Your Majesty

Later today (July 20 2006), His Majesty the King is undergoing an operation on His spinal nerve/vertebrae (the lumbar spine) in order to alleviate the abnormal movement/discomfort on His right leg.

May the operation go extremely well without complications, and may His Majesty get well soon...


สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง การถวายการรักษาพระปิฐิกัณฐกัฐิ (กระดูกสันหลัง) ของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ที่เริ่มมีพระอาการทรงก้าวพระบาทขวาไม่ถนัดในปี 2538 และได้ถวายการรักษาเรื่อยมา จนวันที่ 3 พฤษภาคม คณะแพทย์ที่ถวายการรักษาได้ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า ควรถวายการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดในวันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม นี้ ที่โรงพยาบาลศิริราช

แถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง การถวายการรักษาพระปิฐิกัณฐกัฐิ (กระดูกสันหลัง) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความว่า ใน พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระอาการทรงก้าวพระบาทขวาไม่ถนัด ขณะทรงพระดำเนินเป็นครั้งคราว คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาและศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ ได้ถวายการตรวจพระวรกาย และตรวจด้วยเอกซเรย์ พบว่า พระปิฐิกัณฐกัฐิ หรือกระดูกสันหลัง ระดับบั้นพระองค์ (Lumbar Spine) มีการเปลี่ยนแปลงตามพระชนมายุ การตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า พบว่า มีการกดทับเล็กน้อยของเส้นประสาทที่แยกออกจากไขสันหลังระดับบั้นพระองค์ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในขณะที่ทรงพระดำเนิน คณะแพทย์ได้ถวายพระโอสถ พระอาการดีขึ้น

ต่อมา ใน พ.ศ. 2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำเนินระยะทางยาวประมาณ 200 เมตร มีพระอาการก้าวพระบาทข้างขวาไม่ถนัด คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ถวายตรวจพระวรกาย และถวายตรวจทางรังสีวิทยาคลื่นสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging: MRI) และด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ใช้รังสีเอกซ์ (Computerized Tomography: CT) พบว่า ช่องทางเดินของเส้นประสาทไขสันหลังระหว่างปล้องของพระปิฐิกัณฐกัฐิ ตรงตำแหน่งดังกล่าวแคบลง (Lumbar spinal stenosis)

ใน พ.ศ. 2548 คณะแพทย์ได้ปรึกษากันและได้ถวายการตรวจอีกครั้งหนึ่ง มีความเห็นว่าควรถวายการรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัดก่อน หากไม่ได้ผลควรต้องพิจารณาวิธีรักษาด้วยการผ่าตัดขยายช่องทางเดินประสาท

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลศิริราช และจากสถาบันการแพทย์อื่น ได้ร่วมประชุมปรึกษากันและเห็นพ้องต้องกันว่า ควรถวายการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ในการนี้ต้องถวายพระโอสถก่อนการผ่าตัดสักระยะเวลาหนึ่ง และหลังจากการผ่าตัด จำเป็นต้องใช้เวลานานเพื่อการบริหารพระกล้ามเนื้อเพื่อเสริมสมรรถภาพ จึงเห็นสมควรถวายการผ่าตัด หลังจากงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี คณะแพทย์จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถวายการผ่าตัดขยายช่องทางเดินประสาทของพระปิฐิกัณฐกัฐิ (Lumbar Spine) ระดับบั้นพระองค์ โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ (Microsurgical decompression) ณ โรงพยาบาลศิริราช ในวันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2549

จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน
สำนักพระราชวัง
วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2549

Thursday, February 02, 2006

May Your Godliness Protect Us This Saturday

Your Majesty:

May Your grace, righteousness, and goodness guide the event of this Saturday and protect all of us from harm.

All of us Your loyal subjects realize that our good life today is the direct result of Your personal sacrifice to ensure our livelihood and well being. We have witnessed how You have toiled Your Life for us. Our independence, liberty, democracy, and peace all stemmed from Your Life's work, and we are determined to safeguard them with our lives, too.

The behavior and practice of the current government and Congress cause the present hostile public outcry. We are in despair. And we have nobody else to turn to but You our Lord.

May the power of Your goodness keep us safe tomorrow.